วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ประวัติความเป็นมาของรูปหนังตะลุง

      จากหลักฐานทราบว่า บริเวณที่อียิปต์ กรีก ตุรกี ซีเรีย อาฟริกาเหนือ บริเวณเหล่านี้มีหนังมาก่อน โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ผู้ครองอาณาจักรมาสิโดเนีย ได้ใช้เวลาในการพิชิตโลก ๑๑ ปี เมื่อพระองค์เข้าเหยียบแดนไอยคุปต์ พระองค์ถือว่าท่านเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง เมื่อได้เข้ามาเยี่ยมเทพสถานอำมอนรา เมื่อกลับออกมาหัวหน้านักพรตยกย่องพระองค์ว่าทรงเป็นโอรสของอำมอนราแล้ว ในการนั้นได้มีการเฉลิมฉลองการเป็นโอรสของพระองค์ ได้มีการแสดงหนังของไอยคุปต์ เมื่อพระองค์เดินทางเข้าสู่แคว้นปัญจาบของอินเดีย ก็ได้นำศิลปศาสตร์ของกรีกเข้ามาด้วยแล้วต่อไปยังจีนและแพร่หลายไปในที่อื่นๆ ในเอเชียแต่นั้นมา ซึ่งประเทศต่างๆ ที่พระองค์นำศิลปศาสตร์เข้าไป เช่น อินเดีย จีน ก็นำไปดัดแปลงให้เข้ากับอารยธรรมของตน
เมื่ออินเดียรับอารยธรรมของกรีกและอียิปต์เข้ามา ในขณะเดียวกันอินเดียก็มีอารยธรรมอันสูงส่ง มีศาสนาพราหมณ์เป็นเจ้าอยู่ ก็นำมาปรับเข้ากับศาสนาและความเชื่อของตนแล้วนำแพร่ขยายลงไปยังอินเดียใต้ จีน เขมร ลาว ไทย ชวา มาลายู บาหลี ฯลฯ วิธีการเล่นหนังเมื่อไปถึงประเทศใด ประเทศนั้นก็รับเอาวิธีการปรับให้เข้าความเชื่อ ประเพณี ศาสนา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของตน เช่น เป็นหนังจีน หนังใหญ่ หนัง Sbek ของเขมร หนังชวา หนังบาหลี หนังทมิฬ และหนังตะลุงของไทย
        การเล่นหนังในสมัยแรกๆ น่าจะเป็นหุ่น รูปหุ่นเห็นได้ทุกๆด้านเมื่อออกมาสู่หน้าจอมีไฟสว่างเห็นสีสันได้อย่าง ชัดเจน ต่อมาได้พัฒนาจากการเล่นหุ่นมาเป็นการเล่นเงา (Shadow Puppet) ต้อง ให้แสงส่องผ่านทะลุจึงจะเห็นเงาชัดเจน มิฉะนั้นจะเป็นรูปทึบมองไม่ออกว่าเป็นรูปอะไร จึงมีการฉลุลวดลายขึ้นตามศิลปะในท้องถิ่นหรือประเทศนั้นๆ ทำให้เกิดสีสันสวยงามขึ้นเมื่อมีแสงไฟลอดผ่าน ความจริงนี้เราสามารถสังเกตได้จากรูปหนังสมัยก่อน ใช้หนังหนาแสงลอดผ่านไม่ได้แสงขับสีสันออกมาไม่ได้จึงมองเห็นเป็นรูปทึบ แต่ก็เหมาะที่เล่นกลางวันอย่างเช่น หนังชวาและการเล่นหนังใหญ่ของไทย ต่อมาได้มีการพัฒนาการฟอกหนัง เพื่อให้หนังบางเมื่อนำมาแกะสลักเป็นรูปหนังแสงไฟก็จะขับสีสันออกมาให้เห็น ได้อย่างสวยงามยิ่งขึ้นตามที่ปรากฏในรูปหนังตะลุงในปัจจุบัน  การแกะรูป หนังตะลุง ผู้แกะรูปหนังหรือศิลปินจะต้องมีพื้นความรู้ มีความคิด มีจินตนาการ และประสบการณ์ เมื่อแกะรูปออกมาแล้วจะต้องสอดคล้องกับประเพณี ความเชื่อ ศาสนา และการแต่งกายของท้องถิ่นหรือประเทศนั้นๆ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
        1. รูปหนังชวา (Wayang Jawa) รูปหนังของชวาหน้าตาจะไม่เหมือนคน เพราะชวาถือว่าเรื่องที่เล่นเป็นของสูง เป็นเทวดา เช่น เรื่อง มหาภารตะและ รามายณะหรือเรื่องที่มีอยู่เดิมในบ้านก็มี คือ อิเหนา ฉะนั้นเทวดารูปร่างหน้าตาจะเหมือนคนไม่ได้
        2. รูปหนังใหญ่ของไทย หนัง ใหญ่ของไทยเข้าใจว่าแบบอย่างจากอินเดีย แต่ความคิดและจินตนาการก็เป็นแบบไทย เพราะเราได้แต่วิธีการและเรื่องมา รูปหนังเป็นแผ่นใหญ่มีเรื่องราวเป็นฉากๆแบบเดียวกับของอินเดีย เช่น มีปราสาท เรือน รูปหนังทำด้วยหนังทั้งผืน ใช้ไม้หนีบ (ไม้ตับ) ๒ อัน และไม้สำหรับเชิดมือ ส่วนศิลปะหน้าตาและอื่นๆก็เป็นแบบของไทยเอง
        3. รูปหนังวายังเซียม (Wayang Siam) วา ยังเซียม คือ หนังไทย มีเล่นอยู่ตามจังหวัดชายแดนภาคใต้และทางตอนเหนือของมาเลเซีย เป็นหนังผสมกันระหว่างหนังชวากับหนังตะลุงของไทย แต่ก็ยังมีรูปหนังคล้ายๆ หนังชวาบ้าง เช่น แดหวอ (เทวดา) เป็นต้น
การสร้างรูปหนังไทย จากการศึกษาค้นคว้า สรุปได้ว่า หนังของไทยมีมาแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตามที่ปรากฏในสมุทรโฆษคำฉันท์ ลักษณะของรูปหนังเป็นแบบรูปหนังใหญ่ ต่อมาอาจจะเห็นว่ารูปหนังใหญ่เป็นรูปใหญ่มาก ทำด้วยหนังทั้งผืน หากมีรูปมากก็ยากต่อการขนย้ายจึงค่อย ๆ ลดขนาดของรูปให้เล็กลง จากรูปหนังใหญ่ก็กลายเป็นรูปเล็ก หรือภายหลังเรียกว่า หนังตะลุงเท่าที่ปรากฏหลักฐานทางกรุงเทพมหานคร เรียกว่า หนังตะลุง ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ก่อนแต่นี้เรียกว่า หนังคนทางภาคใต้ก็เรียกว่า หนังไม่มีคำว่า ตะลุง แต่เมื่อมีคำว่า ตะลุง เกิดขึ้น หนังเดิมที่คนกรุงเทพฯ เคยรู้จักก็ได้ชื่อว่า หนังใหญ่ ประชาชนทางภาคใต้ เมื่อประมาณ ๔๐ ปีมาแล้ว เรียกหนังตะลุงว่า หนัง อย่างเช่นชาวบ้านจะพูดว่า ไปแลหนังไหรเล่น” (หนังอะไร) หรือ หนังเลิกต่อมาภายหลังคนภาคใต้รู้ว่าหนังที่ตนดูนั้นชาวกรุงเทพฯเรียกว่า หนังตะลุง
ศิลปะในการแกะรูปหนังถ่ายทอดมาจากหนังใหญ่ ยึดแบบหนังใหญ่เป็นหลัก ในการสร้างภายหลังได้มีการดัดแปลงปรับปรุงตามท้องถิ่นตามกาลเวลา วิธีการเล่นอาจนำการเล่นแบบชวามาเล่นบ้าง แล้วก็พัฒนาไปตามแบบของตน  ช่างแกะรูปหนังตะลุงเป็นผู้มีความรู้ มีฝีมือทางศิลปะ มีพื้นความรู้ทางประเพณี วัฒนธรรมทุกด้าน มีประสบการณ์ รู้จักใช้จินตนาการรวมทั้งขนบนิยมในการสร้าง ช่างแกะรูปหนังตะลุง แบ่งเป็น 2 พวก คือ
        1. นายหนังเป็นช่างแกะเอง นายหนังตะลุงหลายคนที่มีนิยายในการเล่นเป็นของตนเองหมายถึงตนเองเป็นผู้ ประพันธ์ขึ้นมา เป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์สูงก็สามารถแกะสลักรูปหนังออกมาตามที่ตนคิด รูปที่แกะออกมาก็จะสมใจผู้เป็นนายหนังมากที่สุด
        2. ช่างแกะรูปหนังโดยเฉพาะ บุคคลกลุ่มนี้จะมีอาชีพเป็นช่างแกะรูปหนังโดยเฉพาะเล่นหนังไม่เป็น รู้ถึงความต้องการของนายหนังที่มาสั่งแกะรูป ส่วนมากจะมีอาชีพอื่นประกอบอยู่แล้วงานแกะรูปเป็นงานอดิเรก สามารถแกะรูปหนังตามรูปลักษณ์ที่นายหนังต้องการ บางครั้งก็แกะรูปหนังเตรียมไว้มากมาย รอนายหนังเป็นผู้ไปเลือกซื้อ แต่ส่วนมากจะแกะตามรูปลักษณ์ที่นายหนังไปชี้แนะ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น