วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ขั้นตอนและองค์ความรู้ในการแกะรูปหนังตะลุง

       ในการประดิษฐ์สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมการแกะรูปหนังตะลุงนี้ จะเห็นได้ว่าจากรูปหนังที่ได้ผลิตขึ้นมานั้น มีขั้นตอน วิธีการที่ซับซ้อนมากในการผลิตให้ออกมาเป็นตัวหนังตะลุงได้ และการที่ช่างได้พัฒนาภูมิปัญญา เพื่อสร้างมูลค่าให้เกิดขึ้นนั้น ช่างต้องใช้ฝีมือในการผลิต โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องจักรกล หรือเทคโนโลยีในการผลิต นำวัสดุเหลือใช้ที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาสร้างสรรค์ผลงาน จนสามารถประกอบเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนหลายครัวเรือนและมีการรวมกลุ่มเป็น อันหนึ่งอันเดียวกัน ก่อให้เกิดความรักสามัคคี สามารถสร้างเสริมให้สังคมสันติสุขและยั่งยืนได้
        ขั้นตอนการแกะรูปหนังตะลุง ไม่ว่าจะเป็นรูปหนังเชิดหรือรูปสำหรับตกแต่ง มีกรรมวิธีทำเหมือนกัน คือ
        1. ขั้น เตรียมหนัง หนังที่ช่างทั่ว ๆ ไปนิยมใช้คือหนังวัวและหนังควาย และถือเป็นองค์ความรู้ของช่างในการเลือกหนังได้อย่างหนึ่ง เพราะหนังทั้งสองชนิดนี้ มีคุณลักษณะพิเศษกว่าหนังสัตว์อื่น ๆ มีความหนาบางพอเหมาะ มีความแข็งและปรับตัวดี เหนียวและมีความคงทนเมื่อฟอกแล้วจะโปร่งแสง เมื่อระบายสีและนำออกเชิดจะให้สีสันสวยงามและหนังทั้งสองชนิดนี้จะไม่บิดงอ หรือพับง่าย ช่างจะนำหนังสด ๆ มาวางบนแผ่นกระดานหรือพื้นที่ที่เตรียมไว้เพื่อฟอกหนัง ขั้นการฟอกหนังจะนำหนังที่ตากแห้งโดยใช้ความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์มาหมัก ในน้ำหมักสับปะรด น้ำผลมะเฟืองใบส้มป่อย ใบชะมวง หรือส้มอื่น ๆ และข่า การฟอกแบบนี้จะสะดวก เพราะในพื้นที่ท้องถิ่นหาได้ง่าย และอีกวิธีหนึ่งคือ การฟอกด้วยน้ำส้มสายชู จากนั้นก็นำไปขูดขนออก ล้างด้วยน้ำสะอาดแล้วนำไปตากให้แห้งอีกครั้งหนึ่ง
        2. ขั้น ออกแบบและร่างภาพลงบนแผ่นหนัง เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการแกะหนัง เป็นงานประณีตต้องมีความสามารถในการออกแบบ ใช้ทั้งความรู้ จินตนาการ ฝีมือ และทักษะประกอบกัน การร่างภาพอาจจะร่างบนหนังเลยหรือแกะฉลุร่างบนกระดาษ แล้วนำไปเป็นแบบวางทาบบนแผ่นหนัง ช่างแกะหนังทุกคนจะต้องมีความสามารถร่างภาพได้จึงจะได้ชื่อว่า ช่างแกะหนังที่แท้จริง การร่างภาพในแต่ละภาพก็จัดว่าสำคัญ เพราะถือว่ารูปหนังแต่ละตัว เป็นการเขียนหน้า เขียนตาให้ถึงบทและให้ตัวละครมีลักษณะให้เหมือนจริงมากที่สุด และช่างก็ต้องเข้าใจกายวิภาค ลักษณะรูปร่างสรีระของร่างกาย ของตัวรูปหนังนั้น ๆ ด้วย และที่สำคัญจะต้องเข้าใจว่าจะร่างส่วนไหนของรูปก่อนและช่างจะต้องมีองความ รู้เรื่องกนกลวดลายไทยด้วย เพื่อให้รูปมีความอ่อนโยน สวยงามตามลักษณะของรูปหนังแต่ละตัว
        3. ขั้นแกะหนัง ขั้นตอนนี้จะต้องใช้ความชำนาญและพิถีพิถันมาก เครื่องมือที่ใช้แกะประกอบด้วยเขียงไม้เนื้ออ่อนและไม้เนื้อแข็ง มีด ตุ๊ดตู่หรือมุกลักษณะต่าง ๆ เช่น กลม เหลี่นม โค้ง ซึ่งจะต้องใช้มุกให้สัมพันธ์กับลวดลาย เช่น ถ้าเป็นดอกลายต่าง ๆ หรือเส้นประ ก็จะใช้มุกดอกตามลักษณะของปากมุกแต่ละแบบ ซึ่งช่างต้องใช้ความชำนาญและต้องพิถีพิถันมาก เพื่อให้ได้ดอกลายที่อ่อน งดงาม ช่วงจังหวะของดอกลายแต่ละตัวก็ขึ้นอยู่กับตัวรูปหนัง ส่วนมากรูปกนกลายที่มีความสวยงามจะเป็นรูปตัวพระ ตัวนาง รูปพระราชา พระราชินีและรูปเจ้าเมือง หลังจากแกะส่วนภายในของรูปเสร็จก็ใช้มีดขุดแกะหนังตามเส้นรอบนอกก็จะได้รูป หนังแยกออกเป็นตัว ถ้าเป็นรูปหนังเชิด ช่างจะใช้หมุดร้อยส่วนต่าง ๆ ที่ต้องการให้เคลื่อนไหวได้ตามส่วนต่าง ๆ ของรูป ซึ่งมีส่วนของมือ แขนและปาก เป็นต้น ส่วนเครื่องมือประกอบเพิ่มเติมที่ขาดไม่ได้ คือ สบู่ หรือเทียนไข นับเป็นองค์ความรู้ของช่างที่ได้นำสบู่ หรือเทียนไข มาใช้จิ้มปลายมีดหรือปลายมุก เพื่อกันมีดและมุกมีลักษณะฝืดและไม่ลื่นไหล สบู่ หรือเทียนไข จะทำให้มีดมุกตอกลงบนหนังทะลุง่าย ลื่น ทำลวดลายได้เร็วขึ้น
ก่อนเริ่มต้นการแกะรูปหนังตะลุงในแต่ละวัน ช่างแกะหนังตะลุงจะต้องตั้งจิตระลึกถึงครูบาอาจารย์และพระพิฆเณศวร์พระผู้ ประสาทวิชาศิลป์ แล้วจรดปลายมีดแกะลงบนผืนหนัง เพื่อแกะรูปตัวแรก พร้อมกับกล่าวคาถาเบิกตา เปิดหู เสร็จแล้วกล่าวคาถาเบิกปากรูป เป็นอันว่ารูปตัวต่อ ๆ ไปที่ทำในวันนั้น ทำต่อไปได้ไม่ต้องว่าคาถาแล้ว แต่พอเริ่มวันใหม่ก็ต้องว่าคาถาเหมือนเดิมอีก
        4. ขั้นลงสี การลงสีรูปหนังขึ้นอยู่กับลักษณะรูป ลักษณะของหนังและประโยชน์ใช้สอย รูปหนังเพื่อใช้เชิดต้องใช้สีฉุดฉาดเด่นสะดุดตา การลงสีของรูปหนังตะลุงบางครั้งต้องลงสีตามเนื้อเรื่องที่นายนายมาสั่งทำ โดยเฉพาะการระบายสีเสื้อผ้า ต้องคำนึงเป็นพิเศษ ตามสมัยนิยม ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี เช่น ตัวตลกแต่งตัวเป็นข้าราชการ เป็นตำรวจ ทหาร ครู กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น ส่วนรูปหนังที่ใช้ประดับตกแต่ง มีการลงสีที่จาง ๆ ไม่เข้ม เช่น สีน้ำตาล และสีดำ หรือไม่ลงสีเลย
        5. ขั้นลงน้ำมันชักเงา เมื่อลงสีรูปหนังเสร็จก็ถือว่ารูปหนังเสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่ถ้าลงน้ำมันชักเงาจะทำให้รูปหนังเป็นมันงาม โดยเฉพาะหนังเชิด เมื่อออกจอผ้าขาวจะดูสวยงามยิ่งขึ้น และจะช่วยรักษาสภาพหนังมิให้ชำรุดเร็วเกินไป
        6. การประกอบตัวหนังและการเข้าตับรูปหนัง รูปหนังที่แกะเป็นประเภทตกแต่ง เพื่อประโยชน์ใช้สอย เมื่อระบายสีเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะนำไปเข้ากรอบหรือฉาก ตามความต้องการขอผู้ใช้ แต่รูปหนังประเภทที่ใช้เชิด โดยเฉพาะหนังตะลุง จะต้องมีการประกอบชิ้นส่วนอวัยวะของรูปหนังบางส่วนที่ต้องการให้เคลื่อนไหว ได้ เช่น แขน มือ ปาก ตา เท้า เป็นต้น จึงต้องเอาชิ้นส่วนเหล่านี้มาเจาะร้อยเข้าด้วยกันเป็นช่วง ๆ ในช่วงที่มีการพับ งอ ใช้ไม้ผูกสำหรับเคลื่อนไหวแสดงท่าทางเพื่อให้ดูมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น แล้วนำมาเข้าตับรูปหนัง โดยใช้ไม้ไผ่เหลาผ่าปลายลงมาไม่ตลอด ใช้คีบตัวหนัง เจาะแล้วผูกให้แน่นด้วยเชือก


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น