วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ผลงาน




 


ขั้นตอนการทำตัวหนังตะลุง

 1.เตรียมหนัง

 2.ขัดแผ่นหนังวัวให้เรียบ
 

3.ออกแบบและร่างภาพบนหนังวัว

4.ตอกตัวหนังตามที่ร่างภาพไว้

5.แกะหนัง ตามที่ร่างภาพไว้

6.ลงสีและลงน้ำมันชักเงา
 
 


อุปกรณ์การทำตัวหนังตะลุง




1.หนังวัว

2.ไม้รองตอก(เขียง)
 

3. ค้อน
 

4. มุก หรือ ตุ๊ดตู่      
 

5.เหล็กแหลมหรือเหล็กขีด
 

6.มีดแกะ

7.สบู่ขิง

8.ดินสอ และ ยางลบ
 

9.กรรไกร
 

10.แม็ก
 

11.สีต่างๆ

วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ประวัติของนายสุริยา ชูวิจิตร กับการแกะหนังตะลุง

         มนายสุริยา ชูวิจิตร ที่อยู่ปัจจับัน 13 หมู่ที่5 ตำบลควนกาหลง อำเภอควนกาหลง จังหวังสตูล 91130 เบอร์โทรศัพ์มือถือ 089-9754398 จบระดับการศึกษามัธยมศึกษาตอนต้น ม.3 บิดานายสมจิตร์ ชูวิจิตร มารดานางฉลวย ชูวิจิตร เป็นบุตรคนที่ 1 ในจำนวนพี่น้อง 7 คน
        เริ่มเรียนรู้เรื่องการแกะหนังมาตั้งแต่ตอนประถมศึกษาปีที่ 6 โดยเรียนรู้มาจากพ่อ แต่ทำได้ 3 ปีก็หยุดทำ เพราะต้องไปอยู่ที่อื่น และเริ่มมาทำต่อในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2534 โดยเริ่มทำกนกตามโลงศพแกะเป็นลายเทพพนมและทำเรือพระ แต่กนกโลงศพทำมาได้สักพักก็ต้องหยุดทำ เพราะมีการใช้โลงแอร์มากขึ้น จึงหันมาแกะรูปหนัง โดยแกะมาจนถึงปัจจุบัน
        ซึ่งปัจจุบันพ่อก็สอนอยู่ที่ซอย 4 และทำที่บ้านด้วย ส่วนตัวเองก็ทำที่บ้าน และตอนนี้ก็มีการทำส่ง OTOP และทำส่งประกวด OTOP ซึ่งทำส่งมาแล้วเป็นเวลา 3 ปี
        ผลงานเด่นๆ ในปัจจุบันก็เป็นแกะรูปหนังว่าวควาย ซึ่งเป็นผลงานระดับ 3 ดาวที่ส่ง OTOP และก็จะมีลูกค้ามาสั่งทำอยู่ตลอด ทั้งยังเคยถ่ายทอดความรู้ให้กับกลุ่มเยาวชนในและผู้ที่สนใจชุมชนอีกด้วย

ตัวตลกหนังตะลุง

      ตัวตลกเอก หมายถึง ตัวตลกที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วไป นายหนังคณะต่างๆหลายคณะนิยมนำไปแสดง มีดังต่อไปนี้      
 
             1. อ้ายเท่ง หนังจวนบ้านคูขุดเป็นคนสร้าง โดยเลียนแบบบุคลิกมาจากนายเท่ง ซึ่งเป็นชาวบ้านอยู่บ้านคูขุด อำเภอสะทิ้งพระ จังหวัดสงขลา เป็นคนรูปร่างผอมสูง ลำตัวท่อนบนยาวกว่าท่อนล่าง ผิวดำ ปากกว้าง หัวเถิก ผมหยิกงอ ใบหน้าคล้ายนกกระฮัง ลักษณะเด่นคือ นิ้วมือขวายาวโตคล้ายอวัยวะเพศผู้ชาย ส่วนนิ้วชี้กับหัวแม่มือซ้ายงอหยิกเป็นวงเข้าหากัน รูปอ้ายเท่งไม่สวมเสื้อ นุ่งผ้าโสร่งตาหมากรุก มีผ้าขาวม้าคาดพุง มีมีดอ้ายครก(มีดปลายแหลม ด้ามงอโค้ง มีฝัก)เหน็บที่สะเอว เป็นคนพูดจาโผงผาง ไม่เกรงใจใคร ชอบข่มขู่และล้อเลียนผู้อื่น เป็นคู่หูกับอ้ายหนูนุ้ย เป็นตัวตลกที่นายหนังเกือบทุกคณะนิยมนำไปแสดง

       
             2. อ้ายหนูนุ้ย ไม่มีบันทึกว่าใครเป็นคนสร้าง หนูนุ้ยมีบุคลิกซื่อแกมโง่ ผิวดำ รูปร่างค่อนข้างเตี้ย พุงโย้ คอตก ทรงผมคล้ายแส้ม้า จมูกปากยื่นคล้ายปากวัว ไว้เคราหนวดแพะ รูปอ้ายหนูนุ้ยไม่สวมเสื้อ นุ่งผ้าโสร่งไม่มีลวดลาย ถือมีดตะไกรหนีบหมากเป็นอาวุธ พูดเสียงต่ำสั่นเครือขึ้นนาสิก เป็นคนหูเบาคล้อยตามคำยุยงได้ง่าย แสดงความซื่อออกมาเสมอ ไม่ชอบให้ใครพูดเรื่องวัว เป็นคู่หูกับอ้ายเท่ง และเป็นตัวตลกที่นายหนังทุกคณะนิยมนำไปแสดงเช่นกัน    

 
                3. นายยอดทอง ไม่มีบันทึกว่าใครเป็นคนสร้าง แต่เชื่อกันว่าเป็นชื่อคนที่เคยมีชีวิตอยู่จริง เป็นชาวจังหวัดพัทลุง รูปร่างอ้วน ผิวดำ พุงย้อย ก้นงอน ผมหยิกเป็นลอน จมูกยื่น ปากบุ๋ม เหมือนปากคนแก่ไม่มีฟัน หน้าเป็นแผลจนลายคล้ายหน้าจระเข้ ใครพูดถึงเรื่องจระเข้จึงไม่พอใจ รูปยอดทองไม่สวมเสื้อ นุ่งผ้าลายโจงกระเบน เหน็บกริชเป็นอาวุธประจำกาย เป็นคนเจ้าชู้ ใจเสาะ ขี้ขลาด ชอบปากพูดจาโอ้อวดยกตน ชอบขู่หลอก พูดจาเหลวไหล บ้ายอ ชอบอยู่กับนายสาว จนมีสำนวนชาวบ้านว่า "ยอดทองบ้านาย" เป็นคู่หูกับนายสีแก้ว 
 
             4.นายสีแก้ว  ไม่มีบันทึกว่าใครเป็นคนสร้าง แต่เชื่อกันว่าเอาบุคลิกมาจากคนชื่อสีแก้วจริงๆ เป็นคนมีตะบะ มือหนัก เวลาโกรธใครจะตบด้วยมือหรือชนด้วยศรีษะ เป็นคนกล้าหาญ พูดจริงทำจริง ชอบอาสาเจ้านายด้วยจริงใจ ตักเตือนผู้อื่นให้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามทำนองคลองธรรม เป็นคนรูปร่างอ้วนเตี้ย ผิวคล้ำ มีโหนกคอ ศรีษะล้าน นุ่งผ้าโจงกระเบนลายตาหมากรุก ไม่สวมเสื้อ ไม่ถืออาวุธใดๆ ใครพูดล้อเลียนเกี่ยวกับเรื่องพระ เรื่องร้อน เรื่องจำนวนเงินมากๆ จะโกรธทันที พูดช้าๆ ชัดถ้อยชัดคำ เพื่อนคู่หูคือนายยอดทอง 

 
             5. อ้ายสะหม้อ หนังกั้น ทองหล่อเป็นคนสร้าง เลียนแบบบุคลิกมาจากมุสลิมชื่อสะหม้อ เป็นคนบ้านสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งนายสะหม้อเองก็รับรู้และอนุญาตให้หนังกั้นนำบุคลิกและเรื่องราวของตนไป สร้างเป็นตัวละครได้ รูปอ้ายสะหม้อหลังโกง มีโหนกคอ คางย้อย ลงพุง รูปร่างเตี้ย สวมหมวกแบบมุสลิม นุ่งผ้าโสร่ง ไม่สวมเสื้อ เป็นคนอวดดี ชอบล้อเลียนคนอื่น เป็นมุสลิมที่ชอบกินหมู ชอบดื่มเหล้า พูดสำเนียงเนิบนาบ รัวปลายลิ้น ซึ่งสำเนียงของคนบ้านสะกอม มีนายหนังหลายคนนำอ้ายสะหม้อไปเล่น แต่ไม่มีใครพากย์สำเนียงสะหม้อได้เก่งเท่าหนังกั้น ปกติสะหม้อจะเป็นคู่หูกับขวัญเมือง 

 
              6. อ้ายขวัญเมือง เป็นตัวตลกเอกของหนังจันทร์แก้ว จังหวัดนครศรีธรรมราช ไม่มีประวัติความเป็นมา คนในจังหวัดนครศรีธรรมราชจะไม่เรียกว่า "อ้ายเมือง" เหมือนนายหนังจังหวัดอื่นๆ แต่เรียกว่า "ลุงขวัญเมือง" ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหากตัวตลกตัวนี้นำบุคลิกมาจากคนจริง ก็คงเป็นคนที่ได้รับการยกย่องจากคนในท้องถิ่นอย่างสูงทีเดียว อ้ายขวัญเมืองหน้าคล้ายแพะ ผมบางหยิกเล็กน้อย ผิวดำ หัวเถิก จมูกโด่งโตยาว ปากกว้าง พุงยานโย้ ก้นเชิด ปลายนิ้วชี้บวมโตคล้ายนิ้วอ้ายเท่ง นุ่งผ้าสีดำ คาดเข็มขัด ไม่สวมเสื้อ เป็นคนซื่อ แต่บางครั้งก็ฉลาด ขี้สงสัยใคร่รู้เรื่องคนอื่น พูดเสียงหวาน 

 
             7. อ้ายโถ  ไม่มีบันทึกว่าใครเป็นคนสร้าง เลียนแบบบุคลิกมาจากจีนบ๋าบา ชาวพังบัว อำเภอสะทิ้งพระ จังหวัดสงขลา เป็นคนที่มีศรีษะเล็ก ตาโตถลน ปากกว้าง ริมฝีปากล่างเม้มเข้าไป ลำตัวป่องกลม สวมหมวกมีกระจุกข้างบน นุ่งกางเกงจีนถลกขา ถือมีดบังตอเป็นอาวุธ เป็นคนชอบร้องรำทำเพลง ขี้ขลาดตาขาว โกรธใครไม่เป็น อ้ายโถมีคติประจำใจว่า "เรื่องกินเรื่องใหญ่" ไม่ว่าใครจะพูดเรื่องอะไรก็ตาม โถสามารถดึงไปโยงกับของกินได้เสมอ ซึ่งเป็นมุกตลกที่นับว่ามีเสน่ห์ไม่น้อย เพราะไม่ลามกหยาบคาย จึงเป็นตัวตลกที่ดึงความสนใจจากเด็กๆได้มาก อ้ายโถเป็นเพียงตัวตลกประกอบ มักเล่นคู่กับอ้ายสะหม้อ          
                                  
                                                                                      
             8. ผู้ใหญ่พูน ไม่มีบันทึกว่าใครเป็นคนสร้าง คาดว่าคงจะเลียนแบบบุคลิกมาจากผู้ใหญ่บ้านคนใดคนหนึ่ง เป็นคนรูปร่างสูงใหญ่ จมูกยาวคล้ายตะขอเกี่ยวมะพร้าว ศรีษะล้าน แต่มีกระจุกผมเป็นเกลียวดูคล้ายหูหิ้วถังน้ำ พุงโย้ยาน ก้นเชิดสูงจนหลังแอ่น เพื่อนมักจะล้อเลียนว่า บนหัวติดหูถังตักน้ำ สันหลังเหมือนเขาพับผ้า (เส้นทางระหว่างพัทลุง-ตรัง มีโค้งหักศอกหลายแห่ง) ผู้ใหญ่พูนนุ่งโจงกระเบนไม่มีลวดลาย เป็นคนชอบยุยง ขี้โม้โอ้อวด เห่อยศ ชอบขู่ตะคอกผู้อื่นให้เกรงกลัว แต่ธาตุแท้เป็นคนขี้ขลาดตาขาว ชอบแสแสร้งปั้นเรื่องฟ้องเจ้านาย ส่วนมากเป็นคนรับใช้อยู่เมืองยักษ์ หรืออยู่กับฝ่ายโกง พูดช้าๆ หนีบจมูก เป็นตัวตลกประกอบ
       
               9.อ้ายแก้วกบ อ้ายลูกหมีก็เรียก เป็นตัวตลกเอกของหนังจังหวัดนครศรีธรรมราช รูปร่างอ้วน ปากกว้างคล้ายกบ ชอบสนุกสนาน พูดจากไม่ชัด หัวเราะเก่ง ชอบพูดคำศัพท์ที่ผิดๆ เช่น อาเจียนมะขาม (รากมะขาม) ข้าวหนาว (ข้าวเย็น) ชอบร้องบทกลอน แต่ขาดสัมผัส เพื่อคู่หูคือนายยอดทอง

เอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของรูปหนังตะลุง

        การ แกะรูปหนังตะลุงที่ใช้ในการแสดงนั้น ช่างแกะหนังตะลุง ต้องใช้ ใช้ความรู้ความสามารถ ความชำนาญซึ่งเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นเป็น เวลายาวนานและจะต้องมีศิลปะ ความละเอียด ความประณีต มีใจรัก มีจินตนาการที่ดี ต้องศึกษาประวัติความเป็นมา บุคลิกภาพของรูปตัวหนังตะลุงที่จะแกะว่ามีรูปแบบหน้าตา เอกลักษณ์ของรูปหนังแต่ละตัวว่าเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้แกะรูปภาพออกมาตามแบบตัวละครที่สวยงามและมีชีวิตชีวา ตลอดทั้งความเชื่อในการแกะรูปหนังตะลุง ที่เชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งได้ยึดถือกันตลอดมา ทั้งนี้เพื่อให้เกิดสิริมงคลแก่ตนเองและคณะหนังตะลุง ไม่ว่าจะอยู่ระหว่างการแกะรูปหนังตะลุงหรือการแสดงหนังตะลุงก็ตาม ช่างแกะหนังตะลุงจะต้องตั้งจิตระลึกถึงครู อาจารย์และพระพิฆเณศวร์ ผู้ประสาทวิชาศิลป์ แล้วจรดปลายมีดแกะลงบนผืนหนังเพื่อจะแกะรูปหนังตะลุงตัวแรก พร้อมกล่าวเป็นคาถาเบิกตา เสร็จแล้วกล่าวคาถาเบิกปากรูป เป็นอันว่ารูปตัวต่อ ๆ ไปที่ทำในวันนั้น ทำต่อไปได้ไม่ต้องว่าคาถาแล้ว แต่พอเริ่มวันใหม่ก็ต้องว่าคาถาเหมือนเดิมอีก ช่างจึงสามารถถ่ายทอดภูมิปัญญาในการแกะรูปหนังตะลุงได้โดยสามารถสื่อให้เห็น ถึงเอกลักษณ์และหัตลักษณ์เฉพาะตัวของรูปหนังตะลุงได้เป็นอย่างดี ซึ่งรูปหนังตะลุง แบ่งแยกออกเป็น 4 ชนิด คือ
    1. รูปเรื่อง ได้แก่ รูปฤาษี รูปพระอิศวรหรือรูปพระอินทร์ทรงโค รูปปรายหน้าบทและรูปบอกเรื่อง ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะ ดังนี้
        1.1 รูป ฤาษี ถือ เป็นรูปครูมีความขลังศักดิ์สิทธิ์ มีความเคร่งขรึม ฤาษีที่อยู่ในเนื้อเรื่องของหนังตะลุงมักเป็นสิทธาจารย์ ผู้คงแก่เรียนทำนองเดียวกับฤาษีในวรรณกรรม มักเรียกว่า ฤาษีตาไฟ ทรงวิทยาคุณอย่างพราหมณ์ และทรงคุณธรรมอย่างพุทธประสมประสานกันบทบาทดี่เด่นชัด ช่างแกะรูปหนังตะลุง ต้องใช้ภูมิปัญญาในการแกะที่สามารถสื่อให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของรูปนี้ให้ได้ ซึ่งแต่ละช่างก็ไม่สามารถถ่ายทอดให้เหมือนกันได้ทุกคน รูปฤาษีจะออกมาในลักษณะใดขึ้นอยู่กับความสามารถและจินตนาการของช่างนั้น ๆ
        1.2 รูปพระอิศวร(รูปโค) รูปพระอิศวรของหนังตะลุง เป็นรูปสำคัญตัวหนึ่งที่หนังตะลุงทุกคณะต้องเชิดตามขนบนิยมทุกครั้งที่มีการ แสดง และเชิดเป็นตัวที่ 2 ต่อจากรูปฤาษี รูปพระอิศวร เป็นสื่อเชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมหนังตะลุงกับคตินิยม ตามลัทธิศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกายที่ถือเอาพระศิวเทพเป็นใหญ่ในตรีมูรติ (พระศิวะ พระวิษณะ และพระพรหม) ซึ่งช่างต้องใช้ความสามารถในการสื่อให้เห็นภาพพจน์ของรูปลักษณะเช่นนี้ให้ เข้าใจได้ง่าย
        1.3 รูปปรายหน้าบท  ปรายหน้าบทถือว่าเป็นตัวแทนของนายหนัง ที่ช่างต้องใช้ภูมิปัญญาในการคิดที่จะถ่ายทอดให้ออกมาเป็นรูปชายหนุ่มที่สวย งามมือถือธงหรือดอกบัว ใช้เชิดหลังจากพระอิศวรจบแล้ว เพื่อกล่าวบทไหว้ครูและปรารภเรื่องต่าง ๆ กับผู้ชม
        1.4 รูปบอก เรื่อง เป็น ตัวตลกตัวหนึ่งของคณะหนังแต่ละคณะเพื่อใช้ในการบอกเรื่องที่จะแสดง ซึ่งรูปบอกเรื่องของนายหนังแต่ละคณะนั้นจะแตกต่างกัน เป็นรูปที่แกะแบบหยาบ ๆ ง่าย ๆ เอกลักษณ์ของตัวตลก เป็นการนำเอาคนในท้องถิ่นมาสรรสร้างขึ้นเพื่อล้อเลียน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาที่สำคัญของช่างอีกประการหนึ่งที่สามารถสื่อออก มาในลักษณะของการตลก ขบขันได้
    2. รูปนุด ได้แก่รูปมนุษย์ชายหญิง รูปพระรูปนาง รูปเจ้าเมือง มเหสี พระโอรสธิดา รูปพระเอก นางเอก โดยช่างต้องใช้ฝีมือในการแกะให้เหมือนจริงที่สุดและลงสีสันให้สวยงาม
    3. รูปยักษ์ ได้แก่ ตัวแทนฝ่ายอธรรม รูปทาสา รูปทาสี ซึ่งไม่มียศศักดิ์
ยักษ์ ในหนังตะลุง มี 3 ประเภท คือ ยักษ์กินคน มีความโหดร้ายอำมหิตโดยสันดาน ยักษ์ใจบุญสุทาน ร่างเป็นยักษ์แต่ใจเป็นมนุษย์ เดนยักษ์หรือยักษ์บ้า เป็นยักษ์ป่า บ้า ๆ บอ ๆ ยักษ์ทั้ง 3 ประเภทนี้มีทั้งเพศหญิงและเพศชาย ยักษ์ผู้เรียกว่ายักษา ยักษ์เมียเรียกว่ายักษี การแกะรูปยักษ์ช่างต้องสื่อให้เห็นถึงความขึงขัง มีอำนาจและดุร้าย ทั้งรูปแบบของตัวหนังและการใช้สี ส่วนรูปทาสา รูปทาสีที่ไม่มียศศักดิ์ ก็เป็นความสามารถของช่างเช่นกันที่สามารถสื่อออกมาให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของ รูปหนังแต่ละตัวได้
    4.รูปกาก คือรูปตลกต่าง ๆ พูดจาหรือแสดงท่าทางขบขันเอาเนื้อหาสาระไม่ได้ บางตัวถือว่าเป็นตัวสำคัญสร้างชื่อเสียงให้หนังตะลุง บางครั้งอาจจะจัดให้เป็นตัวศักดิ์สิทธิ์ของคณะนั้น ๆ รูปกากส่วนใหญ่จะเป็นรูปสีดำหรือสีดั้งเดิมที่นำมาแกะรูป ไม่ค่อยมีลวดลาย แต่ก็เป็นภูมิปัญญาของช่างที่สามารถนำบุคคลในท้องถิ่นมาล้อเลียนเป็นตัวตลก ของคณะหนังได้ ประกอบด้วยตัวตลกต่าง ๆ เช่น นายเท่ง นายหนูนุ้ย นายยอดทอง


ขั้นตอนและองค์ความรู้ในการแกะรูปหนังตะลุง

       ในการประดิษฐ์สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมการแกะรูปหนังตะลุงนี้ จะเห็นได้ว่าจากรูปหนังที่ได้ผลิตขึ้นมานั้น มีขั้นตอน วิธีการที่ซับซ้อนมากในการผลิตให้ออกมาเป็นตัวหนังตะลุงได้ และการที่ช่างได้พัฒนาภูมิปัญญา เพื่อสร้างมูลค่าให้เกิดขึ้นนั้น ช่างต้องใช้ฝีมือในการผลิต โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องจักรกล หรือเทคโนโลยีในการผลิต นำวัสดุเหลือใช้ที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาสร้างสรรค์ผลงาน จนสามารถประกอบเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนหลายครัวเรือนและมีการรวมกลุ่มเป็น อันหนึ่งอันเดียวกัน ก่อให้เกิดความรักสามัคคี สามารถสร้างเสริมให้สังคมสันติสุขและยั่งยืนได้
        ขั้นตอนการแกะรูปหนังตะลุง ไม่ว่าจะเป็นรูปหนังเชิดหรือรูปสำหรับตกแต่ง มีกรรมวิธีทำเหมือนกัน คือ
        1. ขั้น เตรียมหนัง หนังที่ช่างทั่ว ๆ ไปนิยมใช้คือหนังวัวและหนังควาย และถือเป็นองค์ความรู้ของช่างในการเลือกหนังได้อย่างหนึ่ง เพราะหนังทั้งสองชนิดนี้ มีคุณลักษณะพิเศษกว่าหนังสัตว์อื่น ๆ มีความหนาบางพอเหมาะ มีความแข็งและปรับตัวดี เหนียวและมีความคงทนเมื่อฟอกแล้วจะโปร่งแสง เมื่อระบายสีและนำออกเชิดจะให้สีสันสวยงามและหนังทั้งสองชนิดนี้จะไม่บิดงอ หรือพับง่าย ช่างจะนำหนังสด ๆ มาวางบนแผ่นกระดานหรือพื้นที่ที่เตรียมไว้เพื่อฟอกหนัง ขั้นการฟอกหนังจะนำหนังที่ตากแห้งโดยใช้ความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์มาหมัก ในน้ำหมักสับปะรด น้ำผลมะเฟืองใบส้มป่อย ใบชะมวง หรือส้มอื่น ๆ และข่า การฟอกแบบนี้จะสะดวก เพราะในพื้นที่ท้องถิ่นหาได้ง่าย และอีกวิธีหนึ่งคือ การฟอกด้วยน้ำส้มสายชู จากนั้นก็นำไปขูดขนออก ล้างด้วยน้ำสะอาดแล้วนำไปตากให้แห้งอีกครั้งหนึ่ง
        2. ขั้น ออกแบบและร่างภาพลงบนแผ่นหนัง เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการแกะหนัง เป็นงานประณีตต้องมีความสามารถในการออกแบบ ใช้ทั้งความรู้ จินตนาการ ฝีมือ และทักษะประกอบกัน การร่างภาพอาจจะร่างบนหนังเลยหรือแกะฉลุร่างบนกระดาษ แล้วนำไปเป็นแบบวางทาบบนแผ่นหนัง ช่างแกะหนังทุกคนจะต้องมีความสามารถร่างภาพได้จึงจะได้ชื่อว่า ช่างแกะหนังที่แท้จริง การร่างภาพในแต่ละภาพก็จัดว่าสำคัญ เพราะถือว่ารูปหนังแต่ละตัว เป็นการเขียนหน้า เขียนตาให้ถึงบทและให้ตัวละครมีลักษณะให้เหมือนจริงมากที่สุด และช่างก็ต้องเข้าใจกายวิภาค ลักษณะรูปร่างสรีระของร่างกาย ของตัวรูปหนังนั้น ๆ ด้วย และที่สำคัญจะต้องเข้าใจว่าจะร่างส่วนไหนของรูปก่อนและช่างจะต้องมีองความ รู้เรื่องกนกลวดลายไทยด้วย เพื่อให้รูปมีความอ่อนโยน สวยงามตามลักษณะของรูปหนังแต่ละตัว
        3. ขั้นแกะหนัง ขั้นตอนนี้จะต้องใช้ความชำนาญและพิถีพิถันมาก เครื่องมือที่ใช้แกะประกอบด้วยเขียงไม้เนื้ออ่อนและไม้เนื้อแข็ง มีด ตุ๊ดตู่หรือมุกลักษณะต่าง ๆ เช่น กลม เหลี่นม โค้ง ซึ่งจะต้องใช้มุกให้สัมพันธ์กับลวดลาย เช่น ถ้าเป็นดอกลายต่าง ๆ หรือเส้นประ ก็จะใช้มุกดอกตามลักษณะของปากมุกแต่ละแบบ ซึ่งช่างต้องใช้ความชำนาญและต้องพิถีพิถันมาก เพื่อให้ได้ดอกลายที่อ่อน งดงาม ช่วงจังหวะของดอกลายแต่ละตัวก็ขึ้นอยู่กับตัวรูปหนัง ส่วนมากรูปกนกลายที่มีความสวยงามจะเป็นรูปตัวพระ ตัวนาง รูปพระราชา พระราชินีและรูปเจ้าเมือง หลังจากแกะส่วนภายในของรูปเสร็จก็ใช้มีดขุดแกะหนังตามเส้นรอบนอกก็จะได้รูป หนังแยกออกเป็นตัว ถ้าเป็นรูปหนังเชิด ช่างจะใช้หมุดร้อยส่วนต่าง ๆ ที่ต้องการให้เคลื่อนไหวได้ตามส่วนต่าง ๆ ของรูป ซึ่งมีส่วนของมือ แขนและปาก เป็นต้น ส่วนเครื่องมือประกอบเพิ่มเติมที่ขาดไม่ได้ คือ สบู่ หรือเทียนไข นับเป็นองค์ความรู้ของช่างที่ได้นำสบู่ หรือเทียนไข มาใช้จิ้มปลายมีดหรือปลายมุก เพื่อกันมีดและมุกมีลักษณะฝืดและไม่ลื่นไหล สบู่ หรือเทียนไข จะทำให้มีดมุกตอกลงบนหนังทะลุง่าย ลื่น ทำลวดลายได้เร็วขึ้น
ก่อนเริ่มต้นการแกะรูปหนังตะลุงในแต่ละวัน ช่างแกะหนังตะลุงจะต้องตั้งจิตระลึกถึงครูบาอาจารย์และพระพิฆเณศวร์พระผู้ ประสาทวิชาศิลป์ แล้วจรดปลายมีดแกะลงบนผืนหนัง เพื่อแกะรูปตัวแรก พร้อมกับกล่าวคาถาเบิกตา เปิดหู เสร็จแล้วกล่าวคาถาเบิกปากรูป เป็นอันว่ารูปตัวต่อ ๆ ไปที่ทำในวันนั้น ทำต่อไปได้ไม่ต้องว่าคาถาแล้ว แต่พอเริ่มวันใหม่ก็ต้องว่าคาถาเหมือนเดิมอีก
        4. ขั้นลงสี การลงสีรูปหนังขึ้นอยู่กับลักษณะรูป ลักษณะของหนังและประโยชน์ใช้สอย รูปหนังเพื่อใช้เชิดต้องใช้สีฉุดฉาดเด่นสะดุดตา การลงสีของรูปหนังตะลุงบางครั้งต้องลงสีตามเนื้อเรื่องที่นายนายมาสั่งทำ โดยเฉพาะการระบายสีเสื้อผ้า ต้องคำนึงเป็นพิเศษ ตามสมัยนิยม ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี เช่น ตัวตลกแต่งตัวเป็นข้าราชการ เป็นตำรวจ ทหาร ครู กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น ส่วนรูปหนังที่ใช้ประดับตกแต่ง มีการลงสีที่จาง ๆ ไม่เข้ม เช่น สีน้ำตาล และสีดำ หรือไม่ลงสีเลย
        5. ขั้นลงน้ำมันชักเงา เมื่อลงสีรูปหนังเสร็จก็ถือว่ารูปหนังเสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่ถ้าลงน้ำมันชักเงาจะทำให้รูปหนังเป็นมันงาม โดยเฉพาะหนังเชิด เมื่อออกจอผ้าขาวจะดูสวยงามยิ่งขึ้น และจะช่วยรักษาสภาพหนังมิให้ชำรุดเร็วเกินไป
        6. การประกอบตัวหนังและการเข้าตับรูปหนัง รูปหนังที่แกะเป็นประเภทตกแต่ง เพื่อประโยชน์ใช้สอย เมื่อระบายสีเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะนำไปเข้ากรอบหรือฉาก ตามความต้องการขอผู้ใช้ แต่รูปหนังประเภทที่ใช้เชิด โดยเฉพาะหนังตะลุง จะต้องมีการประกอบชิ้นส่วนอวัยวะของรูปหนังบางส่วนที่ต้องการให้เคลื่อนไหว ได้ เช่น แขน มือ ปาก ตา เท้า เป็นต้น จึงต้องเอาชิ้นส่วนเหล่านี้มาเจาะร้อยเข้าด้วยกันเป็นช่วง ๆ ในช่วงที่มีการพับ งอ ใช้ไม้ผูกสำหรับเคลื่อนไหวแสดงท่าทางเพื่อให้ดูมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น แล้วนำมาเข้าตับรูปหนัง โดยใช้ไม้ไผ่เหลาผ่าปลายลงมาไม่ตลอด ใช้คีบตัวหนัง เจาะแล้วผูกให้แน่นด้วยเชือก